การอธิษฐาน และอุทิศบุญแบบได้ผล


ทำเบื้องหน้าพระพุทธรูป (โต๊ะหมู่บูชา หิ้งพระ ถ้าในที่พักไม่มี ก็ให้อยู่ให้ในสถานที่อันควร เป็นที่สงบ แล้วน้อมระลึกถึงพระคุณความดี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะคุณ)
1. ก่อนอธิษฐาน ให้ไหว้พระสวดมนต์ก่อน โดยกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย (อรหัง สัมมาฯ)
2. นมัสการพระพุทธเจ้า (นะโม ตัสสะฯ 3 จบ) และรับไตรสรณคมณ์ (พุทธัง สรณัง คัจฉามิฯ)
3. สมาทานศีล (ว่าบาลี หรือไทย ถ้าเพิ่งเริ่มปฏิบัติให้ว่าทั้งบาลี และแปลไทยจะดีมาก)
4. สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิโสฯ) หรือ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
5. กล่าวคำอธิษฐานถวายสังฆทาน / อื่นๆ
6. กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลผลบุญ ตอนที่เอาน้ำไปเท (ให้เทลงที่พื้นดิน) ก่อนเทน้ำ ตั้งจิตบอกแม่พระธรณีว่า "ขอแม่พระธรณีทรงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญบุญกุศลของลูกในครั้งนี้ด้วยเถิด"
เป็นอันเรียบร้อย เสร็จพิธี
*** การกรวดน้ำ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ (คนโทกรวดน้ำ) ให้ใช้ขวดเล็ก ๆใส่น้ำ แล้วรินใส่แก้วก็ได้ เสร็จแล้วเอา
น้ำไปเทที่พื้นดิน
*** ให้ทำทุกวันที่ได้ถวายพระสังฆทาน หรือวันที่ได้สร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้น
หมายเหตุ กรณีไม่ได้ถวายพระสังฆทาน สามารถประยุกต์ใช้คำอธิษฐานนี้ ในการทำบุญชนิดอื่น ๆ ในแต่ละครั้งได้ โดยปรับให้เหมาะสมตามสถานการณ์ แล้วน้อมผลบุญที่ได้กระทำ อุทิศไปให้แก่บุคคลที่ปรารถนา
ตัวอย่างคำอธิษฐานทั่วๆไป
ข้าพเจ้า (ชื่อ – นามสกุล)……………………ขอน้อมเอาผลบุญทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจาก (กล่าวชื่อของทาน อาทิ ถวายปัจจัย ทรัพย์สินเงินทอง ถวายกฐิน ผ้าป่า สิ่งของ ฯลฯ (ตลอดจน การให้อภัยทาน ให้ธรรมทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา(ถ้ามี))ในครั้งนี้/วันนี้/ *เมื่อเวลา …..สถานที่… (ในกรณีที่ไม่ได้กล่าวอุทิศ ในสถานที่ทำบุญนั้น แต่กลับมากล่าวอุทิศในที่พัก ที่บ้าน ในภายหลัง) อุทิศให้แก่………………
ขออานิสงส์ผลบุญนี้ จงเป็นพละปัจจัยให้ข้าพเจ้า…ชื่อ – นามสกุล…(หรือผู้อื่น กรณีอุทิศให้ผู้อื่น) ปรารถนาสิ่งใดก็ให้ว่าไป โดยต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม อาทิ เพื่อความสำเร็จต่าง ๆ ให้ธุรกิจการงานราบรื่น มีผลกำไรดี ให้คิดดี พูดดี ทำดีต่อกัน สนับสนุนกัน ขอให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ให้พ้นจากภาวะทุกข์ทั้งหลาย ปัญหาอุปสรรคทั้งหลายที่เป็นอยู่ (ระบุ บอกรายละเอียด) ฯลฯ…นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เทอญ
* คือเมื่อบุญเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถน้อมเอาผลบุญนั้น มาอุทิศให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นนั้นมีความสุขด้วย อีกทั้งยังเป็นการใช้หนี้เวร หนี้กรรม เศษเวร เศษกรรม ทั้งหลาย ที่เกิดจากบาปเวรอกุศลกรรมที่เราเคยสร้างไว้กับผู้อื่น อันเป็นผลให้เราได้รับวิบากกรรมชั่วต่าง ๆ นาๆ (ที่เรามักว่ามาจากเจ้ากรรมนายเวรนั่นแหละ) โดยบุญที่เกิดขึ้นนั้น ก็ยังเป็นบุญของเราอยู่ด้วย การอุทิศให้ผู้อื่น ก็เพื่อให้เขาได้อนุโมทนาและได้มีส่วนในบุญนั้นด้วย
ต่อจากนั้นเราก็กล่าวอุทิศบุญทั้งหลายนี้ให้กับบุคคลทั้งหลายที่เราปรารถนาจะอุทิศให้ แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อให้บุญนั้นเกิดเป็นความสำเร็จในกิจการงานต่าง ๆ ตามที่เราได้ปรารถนา หรือตั้งเป้าหมายไว้ ส่วนการที่เราจะอุทิศบุญให้แก่ใคร บุคคลใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับบุคคลต่าง ๆ ในแง่ใด ในสถานการณ์ใด (ในทุก ๆ ภพภูมิ หรือทุกมิติ) แล้วจึงเจาะจงอุทิศให้ไป (การอุทิศบุญต้องเจาะจง)
*** (ควรทำให้ได้ทุกวัน และในแต่ละวันควรทำบุญให้ครบส่วน ทั้งในส่วนของ ทาน ศีล ภาวนา กรณีไม่มีโอกาสได้ทำทานทุกวัน หรือคิดว่ายังไม่พร้อมเพียงพอในเรื่องทรัพย์ปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการทำบุญ ก็ให้หมั่นสะสมไว้ ใช้วิธีหยอดเงินใส่กระปุกออมสินรวบรวมไว้ก็ได้ แล้วนำไปทำทาน ถวายทาน ในแต่ละสัปดาห์ หรือตามโอกาส การทำบ่อยๆ จะทำให้จิตระลึกถึงบุญกุศลอยู่เสมอ )
คำกล่าวอุทิศ
โดยทั่วไป ใช้คำว่าอุทิศได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่มีบุญบารมีมาก เราก็ควรใช้คำที่เหมาะสม ว่า "อุทิศถวายแด่" เช่น พรหมเทพ เทวดา ชั้นสูง บรรพกษัตริย์ แต่ในส่วนของผู้ทรงพระคุณความดีสูงสุด ครูบาอาจารย์ สมณะทั้งหลาย เราใช้คำว่า ขอน้อมถวายผลบุญนี้เพื่อบูชาพระคุณความดี ของท่าน
ตัวอย่าง
– ขอน้อมผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา อริยสังฆบูชา
– ขอน้อมผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถวายเพื่อโมทนา และบูชาพระคุณความดีของ สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านพระอาจารย์…. ฯลฯ
– ขออุทิศถวายผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ แด่ ท่านท้าวพระยายมราช ท่านท้าวจตุโลกบาล พระแม่ธรณี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฯลฯ
– ขออุทิศผลบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ ให้แก่ บิดา มารดา นาย ก. นางสาว ข. เจ้ากรรมนายเวร ฯลฯ
การอธิษฐานขอบุญจากครูบาอาจารย์ท่านผู้ทรงพระคุณความดี
เราต้องมีบุญร่วมกับท่าน โดยการเชื่อมบุญกับท่าน ด้วย 1) ทำบุญกับท่าน และหรือ 2) ร่วมทำบุญกับท่าน 3) อนุโมทนาในบุญที่ท่านทำ
การอนุโมทนาบุญท่านผู้ทรงพระคุณความดี (นับแต่พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์)
โมทนาสาธุ ๆ ๆ ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในบุญบารมี พระคุณความดีทั้งหลายทั้งปวงของ…………./ท่านพระอาจารย์……….บุญบารมีพระคุณความดีใด ๆ ที่………./ท่านพระอาจารย์………. ได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในบุญบารมีพระคุณความดีนั้นทั้งหมด และขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนในบุญบารมีพระคุณความดีของ……………/ท่านพระอาจารย์…………..นั้น ด้วยเทอญ
*** ธรรมใด ที่…………/ท่านพระอาจารย์…….ได้ถึงที่สุดแล้ว ก็ขอให้ข้าพเจ้า ได้เข้าถึงซึ่งธรรมนั้น เจริญตามรอย…………../ท่านพระอาจารย์ ด้วยเทอญ โมทนาสาธุ ๆ ๆ (***กรณี ที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม)
*** ใช้ได้กับทุกพระองค์ ทุกท่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และละสังขารไปแล้ว
*** หลังจากนั้น ถ้าเราจะขอพรเพื่อความสำเร็จต่าง ๆ ก็ให้ว่าไป โดยเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามธรรม
การอนุโมทนาบุญท่านผู้ทรงความดี ทั่ว ๆ ไป
โมทนาสาธุ ๆ ๆ ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในบุญบารมี ความดีทั้งหลายทั้งปวงของท่าน……………….บุญบารมีความดีใด ๆ ที่ท่าน……….. ได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในบุญบารมีความดีนั้นทั้งหมด และขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนในบุญบารมีความดีของท่าน…………นั้น ด้วยเทอญ
การอนุโมทนาบุญบุคคลธรรมดา ทั่ว ๆ ไป
โมทนาสาธุ ๆ ๆ ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในส่วนความดีทั้งหลายทั้งปวงของ……………….ส่วนความดีใด ๆ ที่……….. ได้กระทำมาดีแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้า/กระผม/ดิฉัน/หนู/ลูก (ตามแต่สะดวกจะเรียกตนเอง) ขอโมทนาในส่วนความดีนั้นทั้งหมด และขอให้ข้าพเจ้าได้มีส่วนในความดีของ…………นั้น ด้วยเทอญ
หมายเหตุ …………ที่เว้นไว้ให้บอกชื่อของครูบาอาจารย์/ท่านผู้ทรงพระคุณความดี/บุคคลที่เราได้โมทนา ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป สำหรับบางคนอาจจะไม่ลงใจกับคนบางคน (คือทำใจไม่ได้ที่จะโมทนาความดีของเขา) โดยอาจเห็นว่าเขาคนนั้นไม่ดี หรือ คนๆนั้นเป็นปฏิปักษ์กับเรา ก็ขอให้คิดเสียว่าสำหรับคนทั่วไปแล้ว อย่างน้อยเขาก็ต้องมีบุญกุศลความดีมาอยู่บ้าง ไม่งั้นก็คงไม่ได้มาเกิดเป็นคน เราก็ขอโมทนาแต่เฉพาะในส่วนที่ดีของเขา (ซึ่งในส่วนที่เขาทำดีไว้ เราอาจมองไม่เห็น ไม่ทราบก็ได้) การโมทนาบุญผู้อื่นบ่อย ๆ นั้น เป็นการฝึกจิตให้มีเมตตาต่อทุก ๆ คน และลดละความอิจฉาริษยา ทำให้รู้จักการให้อภัย
ต่อไปก็ให้รู้จักการ ขออโหสิกรรม (รู้จักขอโทษ) เมื่อเราได้เคยประมาทพลาดพลั้งทำผิดไป หรือเคยทำผิดด้วยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม ต่อผู้อื่น เราก็ควรที่จะได้ขออโหสิกรรมแก่ผู้นั้น เพื่อแสดงความรู้สำนึกในสิ่งผิดที่ได้ทำไว้กับผู้อื่นนั้น ผู้สำนึกผิด และรู้จักขอโทษ มักย่อมได้รับการอภัย เพราะการสำนึกผิดนั้น ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดทั้งหลาย ท้ายสุดก็ให้รู้จักการให้อโหสิกรรม (รู้จักยกโทษ/ให้อภัยแก่ผู้อื่น) ในการที่ผู้อื่นทำผิดต่อเราไว้ ไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ ก็ดี เหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากกรรมไม่ดีที่ได้เคยทำต่อกันไว้ในอดีต ส่งผลให้เกิดวิบากกรรมต้องมาเบียดเบียน ทำร้าย ทำลายกันในปัจจุบัน การให้อโหสิกรรมแก่ผู้อื่น เป็นการตัดวงจร การอาฆาต พยาบาท จองเวรกัน เพื่อไม่ให้มีวิบากกรรมที่จะต้องไปเบียดเบียน ทำร้าย ทำลายกันอีกภายในภาคหน้า ฉะนั้น ให้ฝึก โมทนาสาธุ ขออโหสิ ฯ ให้อโหสิ ฯ บ่อยๆ ให้ฝึกทำกับคนในครอบครัว และคนรอบข้างตัว แล้วขยายวงกว้างออกไปยังบุคคลอื่นๆ ทั่วไป พร้อม ๆ กับสร้างบุญ (ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา) แล้วจิตจะผ่องใสเป็นสุขมากขึ้น ๆ
อนึ่ง เรื่องของการเบิกบุญ ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา ถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องของวิธีการเบิกบุญนั้น ก็เป็นการอธิษฐานขอให้บุญนั้นส่งผลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่เราปรารถนา ส่วนจะได้ตามนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งการที่เราจะสำเร็จความปรารถนาตามวัตถุประสงค์ดังที่เราต้องการนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าบุญที่มีอยู่ และที่ทำลงไปนั้น มีเหตุปัจจัย เงื่อนไข พอเพียงในการส่งผลให้เกิดเป็นความสำเร็จได้ตามคำอธิษฐานนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ เราต้องมีบุญอันเกิดจากบุญที่เราได้สร้างไว้ก่อน อยู่ ๆ จะเบิกมาใช้ โดยไม่มีฐานบุญ(บุญที่ได้ทำไว้) มาก่อนไม่ได้ เปรียบเหมือนกับ ไม่มีเงินในธนาคาร ไม่มีเงินในกระเป๋า จะไปเบิก ไปล้วงเอามาใช้ จะไปเอาที่ไหนมา ในเรื่องของบุญ ไม่มีการเบิกแบบ โอ ดี (ล่วงหน้า) แบบธนาคาร ไม่มีเครดิตบุญ และถึงแม้จะมีบุญเก่าอยู่ก็ตาม แต่ถ้าเงื่อนไข องค์ประกอบยังไม่ครบถ้วน บุญก็ยังไม่ส่งผล หรือส่งผลได้ไม่เต็มที่ เหมือนกับกรณีมีเงินฝากอยู่ แต่ยังไม่อยู่ในเงื่อนไข ที่จะให้เบิกถอนได้ เช่น ยังไม่ครบเวลาที่สามารถจะถอนได้ ถูกอายัดบัญชี หรือเงินฝากมีไม่พอให้เบิกไปใช้ เพื่อให้การนั้นสำเร็จสมประสงค์ได้ ก็คือ บุญนั้นมีไม่พอเพียงที่จะทำให้เกิดเป็นความสำเร็จในเรื่องที่ปรารถนาได้ ผลความสำเร็จอันเกิดจากบุญที่เราจะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของบุญ และเงื่อนไขต่าง ๆ อันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม นั่นเอง
คำกล่าวรับไตรสรณคมน์
*** นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( ว่า ๓ ครั้ง )
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
คำสมาทานศีล ๕
๑. ปาณาติปาตา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์)
๒. อะทินนาทานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าของดเว้นจากการลักทรัพย์ และถือเอาทรัพย์สินที่เจ้าของมิได้ให้)
๓. กาเมสุมิฉาจารา เวระมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าของดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
๔. มุสาวาทา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าของดเว้นจากการพูดเท็จ)
๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าของดเว้นจากการดื่ม เสพสุรา เมรัย เครื่องดอง ของมึนเมาทั้งปวง)
———————
วิธีสมาทานศีลแบบง่าย ๆ (แบบกรณีไม่ได้เป็นทางการ หรือใช้ในสถานการณ์ เร่งด่วน ฉับพลัน ทันทีทันใด หรือในทุกโอกาส ให้สมาทานศีล โดยกล่าวออกเสียง/ระลึกอยู่ในใจก็ได้)
(กล่าวนำ) …พุทโธ ธัมโม สังโฆ…
ศีลข้อ 1 ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ศีลข้อ 2 ข้าพเจ้าของดเว้นจากการลักทรัพย์ และถือเอาทรัพย์สินที่เจ้าของมิได้ให้
ศีลข้อ 3 ข้าพเจ้าของดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ศีลข้อ 4 ข้าพเจ้าของดเว้นจากการพูดเท็จ
ศีลข้อ 5 ข้าพเจ้าของดเว้นจากการดื่ม เสพสุรา เมรัย เครื่องดอง ของมึนเมาทั้งปวง
บัดนี้ ข้าพเจ้า..(ชื่อ..นามสกุล..) เป็นผู้มีศีล บริสุทธิ์ด้วยศีลแล้ว ขออำนาจศีลนี้ จงช่วยดลบันดาลให้…(อธิษฐานเอาตามแต่จะปรารถนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบด้วยธรรม)..เทอญ
เจริญพร…
เรื่องของธรรมะคือเรื่องของความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกฏเกณฑ์ กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ จนถึงเอกภพจักรวาล การเรียนธรรมะก็คือการเรียนให้รู้และเข้าใจในสรรพสิ่งและกฏเกณฑ์ทั้งหลายตามความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือสัจธรรม ในโลกนี้มีสัจธรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้หรือไม่ก็ตาม สัจธรรมนั้นก็คงดำรงอยู่ เพียงแต่พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบ และนำออกมาเผยแผ่เพื่อยังประโยชน์แก่มวลสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้เห็นตาม เพื่อที่จะได้รู้เข้าใจ และนำความรู้นั้นมาน้อมใส่ตนให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยการประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ทุกข์ทั้งหลายของสรรพสัตว์ ในทุกระดับ ตั้งแต่ทุกข์อย่างหยาบ อันได้แก่เรื่องการดำรงชีพให้มีชีวิตอยู่ หรือเรื่องปากท้อง ทุกข์อย่างกลางได้แก่ทุกข์ทางใจ อันเกิดจากความต้องการที่มากไปกว่าการต้องการมีชีวิตอยู่ ได้แก่ความต้องการในกามคุณทั้งหลาย จนไปถึงทุกข์ที่ละเอียดกว่านั้นได้แก่ ทุกข์ทางใจขั้นสูง คือจิตที่ฟุ้งซ่าน แส่ส่าย เป็นจิตที่ยังหาความสุขสงบที่แท้จริงไม่ได้ เนื่องจากยังไม่สามารถค้นหาจุดหมายปลายทางอันเป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิต หรือความสุขที่แท้จริงของชีวิตได้ รวมแล้วทุกข์ก็คือสภาพที่ทนไม่ได้ หรือสภาพที่ทนได้ยากนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ยาจก วนิพก คหบดี เศรษฐี มหาเศรษฐี ราชา มหาราชา ล้วนแล้วแต่ประสบกับทุกข์กันทั้งนั้น ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ที่ไม่พึงปรารถนาพอใจก็เป็นทุกข์ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็ยังได้ชื่อว่าทุกข์อยู่ เพราะต้องประสบกับสภาพเช่นนี้ อันเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ ทนได้ยากอยู่ร่ำไป พระพุทธองค์ทรงเห็นวงจรเหล่านี้แล้ว และได้ตรัสรู้เหตุผลแห่งการเกิด และเหตุผลแห่งการดับทุกข์ และได้ทรงพ้นไปจากวงจรเหล่านี้แล้ว จึงได้ทรงแนะนำผู้อื่นให้พ้นทุกข์ตาม พุทธศาสนาจึงได้อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ สืบมาจนถึงปัจจุบัน
การที่เราทั้งหลายได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนานั้น นับว่าได้มีโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะได้กระทำตนให้ก้าวล่วงพ้นไปจากทุกข์ทั้งมวล อันที่จริงแล้ว หากเราตั้งใจจริง เราก็สามารถก้าวเข้าถึงสัจธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป และไม่ใช่เรื่องที่คิดว่าเพ้อฝันเกินจริงแต่อย่างใด เพียงแต่เราจะต้องดำเนินให้ถูกต้องตรงทาง และตรงวิธี ปัญหามีอยู่ว่า แล้วเราจะก้าวเดินอย่างไร ทางที่เราเดิน วิธีที่เราเดิน ถูกต้องตรงทาง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ หรือไม่อย่างไร นั่นคือ เราต้องมีกัลยามิตรที่รู้จริง และแนะนำเราได้ถูกต้อง
บุคคลทั้งหลาย เมื่อเวลามีปัญหาหรือมีทุกข์นั้น ย่อมต้องดิ้นรนหาทางออก หาทางแก้ไขปัญหาหรือทุกข์กันทั้งนั้น หากแก้ไขปัญหา หรือทุกข์นั้น โดยไม่ถูกวิธี ใช้วิธีที่ผิดธรรม ก็มีแต่จะทำให้ชีวิตของตนเอง ครอบครัว และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องประสบทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งบางครั้งการกระทำที่คิดว่าเป็นการแก้ไขทุกข์หรือปัญหาไปแล้วนั้น เป็นเพียงแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่กระทำลงไป อันเป็นการผิดธรรม เพราะความไม่รู้นั้น จะส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายภายหลัง อย่างสุดที่จะคาดการณ์ได้
ในขั้นต้น สำหรับชีวิตฆราวาสผู้ครองเรือนโดยทั่วไป หากปรารถนาชีวิตให้อยู่เป็นสุขตามปกติแล้ว ก็ต้องรู้จักขวนขวายสร้างบุญให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ บุญ หมายถึง ความดีงาม ความสุข ความเจริญ ส่วนสิ่งที่ตรงข้ามก็คือ บาป ซึ่งหมายถึง ความชั่ว ความเลวทราม ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเสื่อม เรามาเริ่มสร้างบุญ ด้วยการรู้จักวิธีการสร้างบุญก่อน แล้วก็ต้องรู้จักการแก้ไขบรรเทาปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์เดือดร้อน โดยถูกวิธี ถูกต้องตรงทาง ด้วยความอดทน และเพียรกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมแล้ว ผลก็จะเกิดขึ้นเอง ความทุกข์เดือดร้อน หรือปัญหาอุปสรรคทั้งหลายนั้นก็ย่อมจะผ่อนคลาย ทุเลาเบาบางลง และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นไปเพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุข และพ้นไปจากทุกข์นั่นเอง โดยสรุปแล้ว พระองค์ทรงสอนให้
1) ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง ก็คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการรักษาศีล
2) ทำความดีให้ถึงพร้อม ก็คือสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
3) ทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ ก็คือ การเจริญภาวนา ด้วยการทำสมาธิให้จิตเกิดความสงบ
(สมถะภาวนา) และเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)
ข้อ (3) ข้อสุดท้ายนี้ เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดความสุขสูงสุด เป็นความสุขจากการหลุดพ้น หมดกิเลส (ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก คือการเข้าถึงซึ่งพระนิพพานนั่นเอง)
มาสร้างบุญกันเถอะ
ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
(ในที่นี้จะกล่าวโดยสรุป ส่วนรายละเอียดแนะนำให้อ่านหนังสือวิธีสร้างบุญบารมีของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีผู้พิมพ์แจกจ่ายโดยทั่วไป)
ทาน = การให้ การแบ่งปัน 1) วัตถุทาน 2) อภัยทาน 3) ธรรมทาน
ศีล = ความเป็นปกติ (ศีล 5) เพื่อความสงบสุขของตนเองและสังคม ต้องมีเจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน
วิธีการรักษาศีลให้ถูกต้อง และให้ได้ผล เราต้องมีการสมาทานศีล (การสมาทานคือการรับเอาเข้ามา เพื่อปฏิบัติ ด้วยการแสดงเจตนา(ตั้งใจ) เริ่มด้วยการบอกกล่าว โดยเปล่งวาจา/ว่าในใจ) การสมาทานศีล หากเป็นอย่างทางการแล้ว ก็ทำได้โดยวิธีที่เราไปขอ(อาราธนา)ศีล และรับ(สมาทาน)ศีลจากพระภิกษุโดยตรงนั่นเอง นั่นเป็นรูปแบบตามพิธีการ ซึ่งกระทำเมื่อเวลามีงานบุญ หรือพิธีทางศาสนาต่างๆ โดยพระจะให้ศีลเป็นภาษาบาลี แต่เพื่อความลงใจที่มากขึ้น เราต้องรู้และเข้าใจความหมาย/คำแปล ในศีลแต่ละข้อด้วย
แต่การไปรับศีลจากพระ โดยทั่วไปนั้น เรามักไม่ค่อยมีโอกาสได้กระทำกัน จิตก็เลยไม่ได้ระลึกถึงศีลอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น วิธีการที่สะดวกที่สุด ให้เราสามารถตั้งใจสมาทานศีลเอง โดยกระทำในที่พักอาศัย/บ้านของเราก็ได้ โดยกระทำต่อหน้าพระรัตนตรัย (ทำเอง ณ เบื้องหน้า หิ้งพระ หรือโต๊ะหมู่บูชา ถ้าไม่มี ก็ให้ตั้งจิตเอาเองก็ได้ ในสถานที่อันควร) และควรสมาทานศีลให้ได้ ทั้ง เช้า – ค่ำ โดยตั้งใจไว้ว่าจะรักษาศีลให้ดีที่สุด ในแต่ละวัน เริ่มในเวลาเช้า เมื่อตื่นนอนรู้สึกตัว ก็ให้ทำเลย ก่อนที่จะไปทำงาน/ไปศึกษาเล่าเรียน ทำภารกิจประจำวันต่าง ๆ ส่วนในเวลาค่ำ ก็ให้ทำก่อนนอนทุกๆวัน ในระหว่างวัน ถ้ารู้ตัวว่าละเมิดศีล ผิดศีลในข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบสมาทานศีลใหม่หมดทุกข้อทันที และก่อนที่จะสมาทานศีลในตอนค่ำนั้น ให้เราตรวจดูศีลอีกครั้งหนึ่ง หากเห็นว่าสมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้ว ก็โมทนาสาธุให้กับตนเอง และขอน้อมถวายบุญกุศลอันเกิดจากการที่เรารักษาศีลมาได้สมบูรณ์บริบรูณ์ดีแล้วในวันนี้ บูชาพระรัตนตรัย อธิษฐานให้ผลบุญนี้เป็นพละ(กำลัง) ปัจจัย ให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา (จะเป็นเรื่องประพฤติปฏิบัติ และหรือสิ่งที่เราปรารถนาอันชอบธรรมก็ว่าไป)
แต่ถ้าหากตรวจดูแล้วเห็นว่าบกพร่องผิดพลาดในศีลไป ก็ให้อโหสิกรรม (ยกโทษ) ให้กับตนเอง ไม่ต้องไปเสียใจ หรือวิตกกังวลกับสิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องไปแล้ว และให้ตั้งใจว่าในครั้งต่อไป วันต่อไป เราจะทำให้ดีที่สุด ในการรักษาศีล และพยายามระมัดระวังไม่ให้มีการผิดพลาดบกพร่องขึ้นอีก ให้หมั่นทำเป็นประจำทุกวัน เมื่อทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวันแล้ว ศีลของเราก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเรามีศีลมั่นคง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของอริยบุคคลขั้นต้น (พระโสดาบัน) การมีศีลมั่นคง ก็คือ จะไม่มีการผิด/ละเมิดศีล (ศีล 5) อีกต่อไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ บีบคั้นอย่างไร ก็ไม่อาจจะไปละเมิดศีล/ผิดศีลได้ จนแม้กระทั่งสามารถยอมสละชีวิตได้ เพื่อไม่ให้ผิดศีล เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะได้มีการสมาทานศีลหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นแล้ว เพราะศีลได้เข้าไปอยู่ในจิตใจแล้วอย่างแท้จริง เรียกว่ามีสติสมบูรณ์ในศีลแล้วนั่นเอง
หากถามว่า ถ้าเรามุ่งมั่นจะรักษาศีลให้มั่นคงแล้ว เราจำเป็นต้องสมาทานศีลไหม ตอบว่าจำเป็น เพราะอานิสงส์ของศีลนั้น เกิดจากจิตที่ตั้งใจ (เจตนา) งดเว้นจากการเบียดเบียน การอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้แสดงเจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน จึงไม่ได้เป็นการรักษาศีล เป็นแต่เพียงยังไม่ได้ไปผิดศีลเท่านั้นเอง ดังนั้น จึงยังมิได้รับอานิสงส์ในส่วนของการรักษาศีลแต่อย่างใด ให้ลองนึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ที่เขาไม่ได้ระลึกถึงศีลเลย แต่เขาก็ไม่ได้ไปละเมิดศีล หรือทำผิดศีลเลยแม้แต่เพียงข้อเดียว นั่นก็ยังไม่ได้ถือว่าเขาผู้นั้นรักษาศีล/ถือศีลแต่อย่างใด ก็เพราะเขามิได้มีเจตนา (ตั้งใจ) งดเว้นจากการเบียดเบียน (รักษาศีล) นั่นเอง การที่จะเป็นผู้ที่มีเจตนางดเว้นจากการเบียดเบียนได้ตลอดเวลาทุกขณะจิต(มีสติในศีล) คือการมีศีลมั่นคงแล้วนั้น ก็ต้องมีวิธีการเพื่อให้จิตระลึกถึงศีลได้ โดยเริ่มต้นจากการสมาทานศีลก่อนนั่นเอง
ศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากของการประพฤติปฏิบัติที่มักจะมองข้ามกัน ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังปฏิบัติกันได้ยาก ต้องมีกำลังใจ และสติปัญญา กระทำด้วยความอดทน หมั่นเพียร หากศีลไม่สมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ก็ป่วยการในอันที่จะไปศึกษาประพฤติปฏิบัติ และเรียนรู้ธรรมในขั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถึง
เรียนรู้ไปอย่างไร มากมายขนาดไหน ก็เป็นเพียงความรู้จากการจดจำ มิใช่ความรู้แท้ที่เป็นปัญญาญาณ จึงยังไม่สามารถแก้ทุกข์ได้อย่างจริงจัง
การเจริญภาวนา แบ่งเป็น
1) สมถะภาวนา /สมถะกรรมฐาน = การทำสมาธิ คือทำจิตให้ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียวนั่นเอง ซึ่งก็มีหลายวิธี (กรรมฐาน 40 กอง) กรรมฐานมาตรฐานที่ครอบคลุมกรรมฐานทุกอารมณ์ก็คืออานาปานสติกรรมฐาน (ระลึกรู้ลมหายใจ ในเบื้องต้นแนะนำให้ใช้ พุท – โธ เป็นคำบริกรรมควบคู่ไปด้วย)
2) วิปัสสนาภาวนา /วิปัสสนากรรมฐาน = การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือตัวปัญญานั่นเอง
ในที่นี้ขอยกมากล่าวไว้ให้ทราบคร่าวๆ เท่านั้น ในขั้นการเจริญภาวนานี้เป็นการประพฤติปฏิบัติในขั้นสูง ซึ่งรายละเอียดของการประพฤติปฏิบัติ จำเป็นต้องศึกษาและได้รับคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริงต่อไป การปฏิบัติในขั้นเจริญภาวนาในเบื้องต้นนั้น ขอให้เรารู้จักไหว้พระสวดมนต์ อันเป็นการทำจิตให้สงบ แบบพื้น ๆ ก่อน เอากันเท่านี้ ก็สามารถสร้างความสุขสงบใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ถ้ามากไปกว่านั้น ก็ให้รู้จักการทำสมาธิ และการพิจารณาธรรม อันเป็นการเจริญปัญญาซึ่งเป็นการปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาต่อไป
การศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องดำเนินไปเป็นขั้น ๆ เหมือนกับการสร้างตึก อาคาร บ้านเรือน ก็ต้องเริ่มจากการสร้างฐานล่าง ให้มั่นคงแข็งแรงสมบูรณ์ก่อน เช่น การตอกเสาเข็ม เทพื้นคอนกรีต ฯลฯ การปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากการสร้างบุญบารมีให้เกิดขึ้นด้วย ทาน และศีล เป็นเบื้องต้นก่อน หากไม่มีแล้ว การเจริญภาวนา ก็เป็นไปได้ยาก เหมือนกับจะไปเรียนขั้นด็อกเตอร์ อยู่ ๆ จะเข้าไปเรียนเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเริ่มผ่านจากชั้นอนุบาล ประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท ก่อน เป้าหมาย และกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
*** ของฟรีไม่มีในโลก อยากได้ให้สร้างเอา ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วเกิดแต่เหตุ ทำสิ่งใดไว้ ย่อมมีผลตอบแทนทั้งสิ้น ให้สิ่งที่เป็นความสุข ความเจริญ (บุญ) ก็ย่อมได้รับผลเป็นความสุข ความเจริญ ให้สิ่งที่เป็นความทุกข์ เดือดร้อน (บาป) ก็ย่อมได้รับผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน
ทาน ก่อให้เกิดบุญ ซึ่งเป็นความสุข อันเกิดจากการมีโภคทรัพย์
ศีล ก่อให้เกิดบุญ ซึ่งเป็นความสุข อันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน ชีวิตมีความเป็นปกติสุข
ภาวนา ก่อให้เกิดบุญ ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากความสงบแห่งจิต (จากสมาธิภาวนา) และปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริง (จากวิปัสสนาภาวนา)
บุคคลย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นด้วยการให้ พึงใฝ่ใจในการให้ทาน
ความเป็นปกติสุขของตนเอง และผู้อื่น ย่อมเกิดจากการไม่เบียดเบียน พึงหมั่นเพียรรักษาศีล
ความบริสุทธิ์ผ่องใสแห่งจิต ย่อมเกิดจากสมาธิ และปัญญา พึงหมั่นเพียรเจริญภาวนา
ผู้ใฝ่หา และเพียรกระทำดั่งนี้ ย่อมเป็นผู้อยู่ในเขตบุญ จักพึงได้รับความสุขสงบ และสิ่งอันเป็นมงคลทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าสืบไป
คำอนุโมทนาบุญ และขออโหสิกรรม (อย่างย่อ)
โมทนาสาธุ ๆๆ ข้าพเจ้าขอโมทนาในบุญกุศลความดีของ………………………..
ขออโหสิ ๆ ๆ ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมในกรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่ข้าพเจ้าได้เคยเบียดเบียนต่อ………………….ไว้ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ให้อโหสิ ๆ ๆ ข้าพเจ้าให้อโหสิกรรมในกรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่…………………………ได้เคยเบียดเบียนต่อข้าพเจ้าไว้ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ขอให้บุญกุศลความดีทั้งหลายทั้งปวง ที่ข้าพเจ้าได้กระทำมา นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จงเป็นการชดใช้หนี้เวรหนี้กรรม เศษเวรเศษกรรมทั้งหลายทั้งปวง ระหว่างข้าพเจ้า กับ……………………………….ขอให้…………………………ได้โปรดให้อโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า และขอให้วิบากกรรมชั่วที่มีต่อกัน จงเป็นอันยุติการส่งผล นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ด้วยเทอญ
*** ช่องว่างที่เว้นไว้ กล่าวชื่อนาม – สกุล คู่กรณี ผู้ที่มีวิบากเวรกรรม ต่อกัน หรือต่อคนทั่วไปก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นมิตร หรือศัตรู

Cr : torthammarak.wordpress.com